Web 3.0 | การปฏิวัติอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่

18 กุมภาพันธ์ 2565
Web 3.0 | การปฏิวัติอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่

เมื่อ Web 3.0 คืออินเทอร์เน็ตในยุคต่อไปและดูเหมือนว่าสื่อและบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมายออกมาพูดถึงมันในวงกว้างจนกลายเป็นกระแสขึ้น เราจะมาดูกันว่า Web 3.0 จะเป็นการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่และนำโลกของเราไปสู่อนาคตของอินเทอร์เน็ตได้อย่างที่ใครหลายคนให้คำจำกัดความไว้หรือไม่ หรือมันจะเป็นเพียงคำพูดตามกระแสที่ใครหลายคนสร้างภาพในอุดมคติขึ้น

บทความนี้เราจะมาตีแผ่ให้ทุกท่านได้รู้จักว่า Web 3.0 นั้นคืออะไร ? ทำงานอย่างไร ? และเราต้องรู้อะไรบ้าง ? เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในธุรกิจองค์กรของเราให้สอดคล้องกับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

ก่อนจะรู้ว่า Web 3.0 นั้นคืออะไร ?   เราควรเริ่มจากการทำความเข้าใจกับ Web 1.0 และ Web 2.0 โดยพอสังเขปกันก่อน

Web 1.0

Web 1.0 คือวิวัฒนาการในระยะแรกของของเว็บไซต์ ในยุคนั้นจะมีผู้สร้างเนื้อหาใน Web 1.0 เพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่กลับมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล เป็นเรื่องปกติเลยก็ว่าได้ที่เว็บไซต์ในตอนนั้นจะเป็นแบบ เว็บที่สามารถตอนสนองได้ทางเดียวคือมีไว้ให้แค่อ่านหรือดูได้อย่างเดียวเท่านั้น (static page) โดยเจ้าของเว็บไซต์จะต้องไปเช่าเว็บเซิร์ฟเวอร์เพื่อเก็บข้อมูลกับบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต - ISP หรือเว็บโฮสติ้ง

จุดเด่นของอินเทอร์เน็ตยุค Web 1.0

จะเน้นที่การสื่อสารข้อมูลกันในระดับองค์กรธุรกิจ และผู้ใช้เนื้อหาเป็นเพียงผู้อ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอ่านจากหน้าเว็บไซต์ของผู้ให้บริการเช่น Yahoo และ Google

Web 2.0

จากการที่ Web 1.0 เป็นเว็บไซต์ที่ตอบสนองได้ทางเดียว และการที่เจ้าของเว็บไม่สามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ใช้งานเว็บไซต์ได้เลย ปัญหาด้านการสื่อสารนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีจนนำไปสู่ Web 2.0

Web 2.0 นี้นอกจากทีคุณสมบัติในการแสดงเนื้อหาที่ติดตัวมาจาก Web 1.0 แล้ว ยังถูก เพิ่มความสามารถในการโต้ตอบกันระหว่างผู้สร้างเนื้อหาและผู้ใช้เนื้อหาได้อย่างอิสระ ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการสร้างเนื้อหาร่วมกัน ที่ผู้ใช้เนื้อหาสามารถเป็นได้ทั้งผู้อ่านและผู้สร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารระหว่างกันเองภายในระบบของเว็บไซต์ จนเกิดเป็นชุมชนบนเว็บไซต์ ในยุคแรก ๆ ถูกเรียกว่า เว็บบอร์ด, เว็บ community ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ Pantip แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาและเกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เรียกว่าสื่อโซเชียล เช่น Facebook, Youtube ทำให้ข้อมูลเนื้อหาใหม่ ๆ ถูกสร้างและส่งต่อถึงกันบนเครือข่ายโซเชียลอย่างมากมาย แต่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลับกลายมาเป็นคนกลางผู้มีอำนาจในการควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาที่เหนือกว่าผู้สร้างเนื้อหาที่เป็นเพียงผู้ใช้แพลตฟอร์ม ซึ่งคนกลางที่ว่านี้ตั้งกฎให้เป็นตนเองเจ้าของข้อมูลทั้งหมดในแพลตฟอร์ม สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เราสื่อสารกันได้ทั้งหมด และยังเก็บบันทึกพฤติกรรมการใช้งานของทุกคน รวมถึงนำข้อมูลความเป็นส่วนบุคคลของเราไปขายให้บริษัทโฆษณาหรือพรรคการเมือง เพื่อวิเคราะห์และยัดเยียดแคมเปญโฆษณาให้ตรงกับความต้องการของเราอีกด้วย ทำให้ข้อมูลที่สื่อสารกันบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป

จึงนำไปสู่แนวคิดที่ว่า อินเทอร์เน็ตในยุคถัดไปต้องไม่มีตัวกลาง (Decentralized) หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องลดบทบาทของตัวกลางลงให้ได้ และมีความโปร่งใสในการบริหารข้อมูลมากขึ้น สู่แนวคิดที่เรียกว่า Web 3.0

การเปรียบเทียบ Internet, web 0.1, web 0.2 และ web 0.3

ความแตกต่างระหว่าง web 0.1, web 0.2 และ web 0.3

ต่อไปนี้เราขอนำคุณไปรู้จักกับ Web 3.0 ให้ดียิ่งขึ้น

คำนิยาม Web 3.0

Web 3.0 เป็นบริการอินเทอร์เน็ตรุ่นที่สามที่จะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดหาเว็บเชิงความหมาย “Semantic web” เป้าหมายคือการสร้างเว็บไซต์ที่ชาญฉลาด เชื่อมต่อ เปิดกว้าง และเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี... ปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของ Web 3.0 เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา และยังเป็นอุดมคติมากกว่าข้อเท็จจริง ที่สามารถพิสูจน์ได้

คุณสมบัติของ Web 3.0

ณ วันนี้พวกเราทุกคนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางไปสู่ระบบที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าเราวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของเว็บทั้ง 2 เวอร์ชันที่ผ่านมา เราอาจจะพอคาดเดาถึงการเปลี่ยนแปลงจาก Web 2.0 สู่ Web 3.0 อาจใช้เวลาราว 10 ปี แต่ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับ Web 3.0 ไม่ว่าจะเป็น blockchain หรือ AI (Artificial Intelligent) จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ว่าจะใช้เวลาที่สั้นกว่าในยุคจาก 1.0 มาเป็น 2.0 ซึ่งคาดว่ากระบวนการนี้จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการสร้างเว็บไซต์ต่าง ๆ ตลอดจนวิธีการที่ผู้คนโต้ตอบกับเว็บไซต์ไปอย่างสิ้นเชิง

Web 3.0 กับ Blockchain

Blockchain เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีหลักในการขับเคลื่อนไปสู่ Web 3.0 เทคโนโลยี blockchain ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อต้องการทำให้อินเทอร์เน็ตมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ทุกคนมีอิสระเสรี เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทุกคนจะสิทธิ์ความเป็นเจ้าของและสามารถควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลได้เองบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และข้อมูลจะถูกกระจายเก็บไว้ในอุปกรณ์ IoT ของทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Cloud หรือพื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของบริษัทผู้ให้บริการอีกต่อไป Web 3.0 คือแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับการที่ข้อมูลและเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตถูกรวมศูนย์ไว้ในบริษัท Big Tech เพียงไม่กี่แห่งนั่นเอง

Blockchain คือเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นรูปแบบในการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการ Cryptography ร่วมกับกลไก Consensus โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบ blockchain นั้นจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ หรือทำได้ยากมาก ๆ จึงทำให้ blockchain นั้น ช่วยเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

Cryptocurrencies คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกเข้ารหัสเพื่อใช้ในการป้องกันและยืนยันการทำธุรกรรมผ่าน blockchain เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน จึงมีการคาดการณ์ไว้ว่า cryptocurrencies ที่ใช้เทคโนโลยี blockchain และทำงานร่วมกับสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายสำหรับการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตในยุค Web 3.0 แต่อย่างไรก็ดี cryptocurrencies ก็ยังคงถูกมองว่าอาจเป็นเพียงวิธีการสะสมแต้มหรือการให้รางวัล (Reward point) แก่ผู้ใช้บริการข้อมูลอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

จากความสามารถด้านการสร้าง smart contract บน blockchain ของ Ethereum นี่เอง ปัจจุบันเริ่มมีความพยายามในการสร้างแอพพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์ หรือ DApps (Decentralized Application) และบริการด้านการเงินอย่าง DeFi (Decentralized Finance) ขึ้นบ้างแล้ว ซึ่ง DApps เป็นแอพพลิเคชันที่มีความคล้ายกันกับแอพพลิเคชันทั่วไป แต่จะมีสิ่งที่ต่างกันตรงที่แอพพลิเคชันทั่วไปนั้นมีรูปแบบเป็น Centralized ที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์เพียงที่เดียว ทำให้อาจเกิดปัญหา single point of failure ได้ แต่ DApps มีรูปแบบเป็น Decentralized ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บและเข้ารหัสไว้ใน blockchain แบบกระจายศูนย์และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลของตนเองได้ ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและอยู่ใน blockchain นั้น จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือไม่สามารถทำได้ด้วยบุคคลเพียงคนเดียว

การให้รางวัล  Reward point

AI | ปัญญาประดิษฐ์

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่สำคัญของ Web 3.0 คือ การนำเอา AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในกระบวนคิดของระบบอินเทอร์เน็ต โดย AI จะจำลองรูปแบบและวิธีที่มนุษย์ใช้ในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งกระบวนการของ AI นี้จะทำให้ Web 3.0 สามารถคาดการณ์และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนจะส่งข้อมูลไปยังผู้ใช้ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

Metaverse

เมื่อใดก็ตามที่เราพูดถึงอนาคต metaverse น่าจะเป็นคำแรกที่เข้ามาในหัวเลย อินเทอร์เน็ตเวอร์ชันใหม่นี้สามารถรวมเข้ากับจักรวาลเสมือนจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้การออกแบบเว็บไซต์จะเป็นแบบ 3 มิติ โดยมีอุปกรณ์ IoT เป็นส่วนของการสั่งการและรับ-ส่งข้อมูลจากผู้ใช้ไปยัง metaverse และแน่นอนว่า Web 3.0 จะกลายเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้จักรวาลเสมือน metaverse เกิดขึ้นจริงได้ ข้อมูลและเทคโนโลยีใน Web 3.0 มีความสัมพันธ์กับการสร้างกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน metaverseและมีส่วนช่วยในการสร้างระบบนิเวศของจักรวาลเสมือนให้เชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหลอีกด้วย

Personalization และการค้นหาอัจฉริยะ

ใน Web 3.0 นี้ เว็บไซต์จะรู้จักผู้ใช้แต่ละรายเป็นอย่างดี เป็นเพราะจากการที่ผู้ใช้แต่ละรายได้ทิ้งร่องรอยในการสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ไว้จำนวนหลายพันหลายหมื่นรายการ Web 3.0 นี้จึงมีข้อมูลที่มากพอที่จะนำมาวิเคราะห์พร้อมทั้งปรับแต่งผลลัพธ์ของข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละรายนั่นเอง

การพัฒนาเทคโนโลยี 3.0

สิ่งสำคัญสำหรับ การพัฒนา Web 3.0 คือ เทคโนโลยีที่ให้บริการสำหรับการสร้างระบบที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ด้วยโปรแกรมอัจฉริยะ , ความช่วยเหลือของ AI และเว็บเชิงความหมาย (Semantic web) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด แม้ Web 3.0 จะมีความชาญฉลาดใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์มากเพียงใด แต่หน้าที่หลักของเทคโนโลยีนี้คือต้องการให้เว็บยังคงดำเนินงานต่อไปได้

การควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

Web 3.0 ได้เสนอโปรโตคอลที่ผู้ใช้จะเป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นด้วยตนเองและสามารถแชร์ให้กับทรัพยากรต่าง ๆ บน Web 3.0 ให้น้อยที่สุด ซึ่งการที่ข้อมูลไม่ถูกจัดเก็บและควบคุมโดยตัวกลางนี้เอง ทำให้ทุกเว็บไซต์สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้อย่างอิสระนี้ ตัวตนของเราใน Web 3.0 จึงเป็นตัวตนแบบกระจายศูนย์ (decentralized identity : DID) แนวคิดนี้เสนอว่า ผู้ใช้งานหรือธุรกิจองค์กรใดก็สามารถเป็นเจ้าของตัวตนดิจิทัลและบริหารข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้โดยสมบูรณ์ รวมถึงสามารถสั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นได้ว่า อยากให้เปิดเผยข้อมูลส่วนใดบ้าง และทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร ข้อมูลแบบกระจายศูนย์หรือไร้ตัวกลางนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้จนถึงขั้นที่ว่า เราสามารถล็อกอินทุกเว็บไซต์ได้โดยใช้ไอดีและพาสเวิร์ดเดียวที่มีความปลอดภัยสูง

แต่มุมมองนี้จะไปขัดกับกลุ่มบริษัทหรือเครือข่ายโซเชียลที่เป็นผู้นำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปใช้มากที่สุด เพราะกลุ่มบริษัทหรือเครือข่ายโซเชียลต้องการรู้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อค้นหาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคหรือแม้แต่ความคิดเห็นทางการเมืองของกลุ่มผู้ใช้

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้เป็นรูปแบบที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการเผยแพร่เนื้อหา แต่อย่างไรก็ตามนี่ก็ถือว่าเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะแม้ว่าจะสามารถช่วยเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะยับยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอมและคำพูดหรือการแสดงความคิดเห็นด้านลบได้

Web 3.0 การควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

ความแพร่หลายของ Web 3.0

Web 3.0 จะทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องพึ่งการเชื่อมต่อบนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน แต่อาศัยเซ็นเซอร์ที่อยู่ในอุปกรณ์ IoT ซึ่งมีทั้งแบบที่ต้องสวมใส่อยู่บนร่างกายของผู้ใช้และในอุปกรณ์ต่าง ๆ รอบตัวเรา จะทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลเข้าสู่ Web 3.0 ตลอดเวลา

Web 3.0 คืออะไร... ในความเข้าใจ ณ วันนี้

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น Web 3.0 อาจเรียกอีกอย่างว่าเว็บเชิงความหมาย และจุดแตกต่างที่สำคัญกับเว็บเวอร์ชันก่อนหน้าคือการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปที่ช่วยให้อุปกรณ์เข้าใจความหมายของข้อมูลบนเว็บไซต์ อำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้คน สร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเว็บในแบบเฉพาะและเหมาะกับพฤติกรรมของแต่ละคน และกรองเนื้อหาให้ตรงตามความต้องการของแต่ละคนโดยอัตโนมัติ

เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีต่อไปนี้:

  • Resource Description Framework (RDF): การให้ข้อมูลเชิงพรรณนาเกี่ยวกับทรัพยากร
  • W3C Web Ontology Language (OWL): การจัดเตรียมภาษาที่มีโครงสร้างแบบออนโทโลยีหรือเป็นการสร้างโครงสร้างฐานความรู้หรือขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งซึ่งมีแนวคิดและความเข้าใจตรงกันและใช้ในการนิยามตัวแบบ (model) ภายในขอบเขตขององค์ความรู้เพื่ออธิบายสิ่งที่เราสนใจ (domain) ให้ได้ใจความและถูกต้อง
  • SPARQL Query Language for RDF (SPARQL): การอนุญาตให้ค้นหาข้อมูลเชิงความหมายที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบ RDF หรือ OWL บนทรัพยากรบนเว็บ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการที่อนุญาตให้เพิ่มข้อมูลเชิงความหมายให้กับเว็บที่มีอยู่จำนวนมหาศาลแบบค่อยเป็นค่อยไปได้

อุปสรรคสำคัญบนเส้นทางสู่ Web 3.0

การไปถึงมาตรฐาน Web 3.0 อย่างแท้จริงได้ จำเป็นที่จะต้องตัดตัวกลางให้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งครอบคลุมถึงการติดต่อสื่อสารแบบไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ เลย แต่อุปสรรคสำคัญเลยคือ เราก็ยังต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทและองค์กรขนาดใหญ่ในการเข้าถึงข้อมูลในแอพพลิเคชันของพวกเขา และต่อให้ข้อมูลทุกอย่างไร้ตัวกลางในการเก็บรักษาและควบคุมแล้ว แต่การที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็ยังคงต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายและระบบโทรคมนาคมอยู่ดี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกำกับควบคุมโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศได้ในอนาคต ทำให้ในขณะนี้โลกอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่อาจหลุดพ้นการเป็นเว็บที่ไร้ตัวกลางอย่างแท้จริงอยู่ดี

ตัวอย่างแอพพลิเคชันที่เข้าใกล้กับ Web 3.0 ให้พอเห็นภาพ

Siri

Siri ของ Apple เป็นแอพพลิเคชั่นยอดนิยมตัวหนึ่งของอินเทอร์เน็ตเชิงความหมาย ใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์จดจำเสียงเพื่อสร้างกระแสในด้านเทคโนโลยี เป็นที่คาดการณ์ว่าซอฟต์แวร์ที่รู้และจำเสียงจะเป็นองค์ประกอบหลักของ Web 3.0 แอพพลิเคชันของ Web 3.0 นี้จะทำให้นักพัฒนาเว็บและผู้ใช้อุปกรณ์ของ Apple บนทุกเครื่องทุกประเภทสามารถสื่อสารข้อมูลกันได้ทั้งหมดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและแม่นยำทุกครั้งที่มีคนถามคำถามผ่าน Siri อินเทอร์เน็ตเชิงความหมายจึงช่วยให้ Siri สามารถให้คำตอบที่สรุปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่หลากหลายในการแก้ปัญหาอีกด้วย นอกจาก Siri แล้วยังมี Alexa ของ Amazon กับ Bixby ของ Samsung ที่พยายามสร้างแอพพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางเสียงที่คล้ายกับ Siri ด้วย

Facebook/Meta

Meta หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ Facebook เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชั้นนำและแอพพลิเคชั่น Web 3.0 มีการเชิญชวนผู้คนมาใช้แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมใหม่ ๆ บนเว็บ 3.0 นับตั้งแต่เรื่องอื้อฉาว Facebook-Cambridge Analytica นับว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้พวกเขาชนะ นักพัฒนาเว็บได้สร้างแอปพลิเคชั่นบน Facebook มากกว่า 300,000 แอพเพื่อเพิ่มโอกาสในการโต้ตอบกับลูกค้ารวมถึงการมีส่วนร่วมของลูกค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชันเหล่านี้มีทั้งในรูปแบบเกมไปจนถึงการแจกของขวัญดิจิทัลตามรสนิยมและความชอบของผู้ใช้อีกด้วย

ทีมงานบริษัททีเอ็นทีฯ ของเรากำลังก้าวออกจากยุคของ Web 2.0 ไปสู่ Web 3.0 อย่างจริงจัง เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นพื้นฐานของ Web 3.0 มาใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงเทคโนโลยี Computer Vision และ Augmented Reality (AR) ซึ่งต่อจากนี้คงมีแอพพลิเคชันที่แปลกใหม่มาให้ทุกคนได้ทดลองเล่น ทดลองใช้และเตรียมตัวเข้าสู่ยุค Web 3.0 กันมากขึ้นแน่นอนครับ

ปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง AI Chatbot จากทีมงาน TNT



« Back to Result