36 ข้อผิดพลาดร้ายแรง ที่เรามักเจอในเว็บอีคอมเมิร์ซ (ภาค 3)

11 ธันวาคม 2563
36 ข้อผิดพลาดร้ายแรง ที่เรามักเจอในเว็บอีคอมเมิร์ซ

ความเดิมจากภาคแรกที่บทความนี้กล่าวถึงข้อผิดพลาดที่เราสามารถพบเจอในเว็บอีคอมเมิร์ซทั่วไปและยังไม่ประสบความสำเร็จกันได้ไม่ยากนักซึ่งมีทั้งหมด 36 ข้อ โดยเนื้อหาได้เล่าถึงความสำคัญของการเลือก platform และการจัดองค์ประกอบของหน้าแรกของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ (คลิกอ่านบทความ 36 ข้อผิดพลาดร้ายแรง ที่เรามักเจอในเว็บอีคอมเมิร์ซ ภาคแรก)

และในภาค 2 เราได้ต่อยอดถึงเรื่องการออกแบบและให้ข้อมูลในหน้าแบ่งหมวดหมู่สินค้าและองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้ามในหน้ารายละเอียดสินค้า (คลิกเพื่ออ่านบทความ 36 ข้อผิดพลาดร้ายแรง ที่เรามักเจอในเว็บอีคอมเมิร์ซ ภาค 2)

ส่วนในภาคนี้เราจะมาต่อกันในเรื่องประเด็นสำคัญของขั้นตอนการชำระเงินและเทคนิคด้านการทำธุรกิจ มาดูกันเลยครับ

ย้อนกลับไปดูข้อผิดพลาดฯ ในภาคที่ 1 ข้อที่ 1-9 ย้อนกลับไปดูข้อผิดพลาดฯ ในภาคที่ 1 ข้อที่ 1-9
ย้อนกลับไปดูข้อผิดพลาดฯ ในภาคที่ 2 ข้อที่ 10-19 ย้อนกลับไปดูข้อผิดพลาดฯ ในภาคที่ 2 ข้อที่ 10-19

  1. ไม่ยอมให้คนที่ไม่ได้สมัครสมาชิกซื้อสินค้า
  2. มีค่าบริการแฝง
  3. ขาดตัวเลือกในการชำระเงิน ไม่ครอบคลุมความต้องการของเป้าหมาย
  4. ขาดทางเลือกในการจัดส่งสินค้า (ทางเลือกไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า)
  5. ไม่ยอมลงทุนในการทำสื่อการตลาด (content marketing)
  6. มี content เยอะเกินไปโดย content ที่มีก็ไม่สอดคล้องกับแผนการตลาด
  7. สร้างแต่ content พื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เกิดแรงกระตุ้นให้ซื้อสินค้าหรือบริการ
  8. สร้าง content ที่มีเนื้อหาซับซ้อนเข้าใจยากเกินไปจนผู้อ่านต้องตีความ
  9. ทำอะไรน้อยเกินไป - หรือมากเกินไป
  10. เน้นขายมากเกินไป ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านการสร้างคุณค่าในแบรนด์และตัวสินค้า
  11. เปิดก่อน ถามทีหลัง
  12. โฟกัสผิดเรื่อง
  13. ไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะชอบคิดว่าใคร ๆ ก็เป็นลูกค้าได้
  14. ไม่รู้วิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  15. ตั้งราคาสินค้าเพื่อการแข่งขันเท่านั้น
  16. ขยายกิจการตอนที่ยังไม่พร้อม
  17. ไม่ได้วางกลยุทธ์ในการทำ SEO

ข้อผิดพลาดที่เกี่ยวกับขั้นตอนการชำระเงิน


20. ไม่ยอมให้คนที่ไม่ได้สมัครสมาชิกซื้อสินค้า


Andy Crestodina จาก Orbit Media Studios เคยพูดไว้อย่างชัดเจนว่า :

การที่ไม่อนุญาตให้ลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้สมัครสมาชิกของเว็บไซต์สามารถซื้อสินค้าในเว็บได้ ถือเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ มันยังมีเรื่องผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกตั้งมากมายที่คุณสามารถทำได้ในเว็บ eCommerce แต่ก็คงไม่ร้ายแรงเท่ากับปุ่ม ‘สมัครสมาชิก’ อีกแล้ว

1.

การไปบังคับให้ลูกค้าสมัครสมาชิกก่อนจะซื้อสินค้า ซึ่งเป็นการทำให้ขั้นตอนการซื้อสินค้าของคุณนั้นยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

2.

มันเป็นการบังคับให้ลูกค้าสมัครอะไรที่เค้าอาจจะไม่ได้ต้องการอยากจะสมัคร (อย่างเช่น สมัครรับข่าวสาร หรือสมัครร่วมชิงโชคต่าง ๆ)

3.

ที่เราเคยพูดกันไปแล้วว่า มันอาจจะเป็นการบังคับให้เขาให้ข้อมูลส่วนตัวมากเกินความสบายใจที่ลูกค้าต้องจะให้

ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้าหากคุณเกิดเดินเข้าไปในร้านค้าแห่งหนึ่ง เดินเลือกดูสินค้าจนเกิดความพอใจอยากจะซื้อสินค้าชิ้นนั้น เมื่อคุณจะมาจ่ายเงิน ก่อนจะจ่ายเงินซื้อสินค้าคุณจะต้องมากรอกใบสมัครที่ประกอบด้วยชื่อ-ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทร และตั้งรหัสผ่านให้ครบทั้งหมดเสียก่อน คุณจะยังอยากไปซื้อของที่ร้านแบบนี้อยู่อีกมั้ย? กับร้านค้าออนไลน์อย่าง eCommerce ก็เป็นแบบเดียวกันนั้นแหละ

21. ค่าบริการแฝง

เราเคยได้พูดถึงเรื่องนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่มันก็คุ้มค่าที่จะมาพูดถึงเรื่องนี้กันอีกครั้ง

ค่าบริการแฝง

ค่าบริการแฝงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการที่ลูกค้าไม่ยอมชำระเงินในขั้นตอนสุดท้าย
(อ้างอิงจาก https://neilpatel-qvjnwj7eutn3.netdna-ssl.com)


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาดังที่ยังไม่รวมภาษี (และรวมถึงภาษีนำเข้า), ค่าจัดส่ง, หรือแบบที่แย่ที่สุดเลยคือ “ค่าอำนวยความสะดวก” บรรดาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมเข้ามาเหล่านี้ มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ มาดักคนที่อาจจะเป็นลูกค้าของคุณ อย่างที่เห็นจากกราฟด้านบน เป็นที่แน่นอนว่าค่าบริการแฝงเหล่านี้แทบจะไล่ลูกค้าออกไปจากเว็บของคุณในทันที

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทของคุณจะต้องเฉือนเนื้อตัวเองกับภาษีหรือค่าจัดส่ง แต่หมายความว่า คุณควรจะบอกข้อมูลเหล่านี้ให้ชัดเจน ก่อนที่บรรดาลูกค้าจะเข้าไปจนถึงหน้าชำระเงินในขั้นตอนสุดท้าย อย่างน้อยที่สุด ลูกค้าของคุณก็ควรจะต้องเห็นถึงความชัดเจนในการทำธุรกิจของคุณ การปิดบังไม่ยอมแสดงค่าบริการเหล่านี้และปล่อยให้ลูกค้าของคุณไปถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การทำให้คุณดูไม่โปร่งใสในการทำการค้าเลย


22. ขาดตัวเลือกในการชำระเงิน

จากการที่เว็บ eCommerce ที่มีอย่างมากมาย ทำให้ช่องทางการชำระเงินเกิดขึ้นอย่างมากมายเช่นกัน วันนี้ยุคของการที่มีตัวเลือกแค่ “โอนเงินสด หรือ บัตรเครดิต” ได้หมดไปแล้ว ในปัจจุบันมีช่องทางการชำระเงินอยู่มากมายที่ลูกค้าจะสามารถใช้ชำระเงินได้

ตัวเลือกในการชำระเงิน

ในขณะที่คุณไม่จำเป็นที่จะต้องมีตัวเลือกให้ครบทุกตัว แต่อย่างน้อยคุณก็ควรต้องมีตัวเลือกที่กลุ่มเป้าหมายของคุณใช้ และต้องคอยพยายามอำนวยความสะดวกให้พวกเขาอย่างที่ลูกค้าเขาคาดหวังให้ได้มากที่สุด

คุณคงไม่อยากจะเสียลูกค้าไป เพียงเพราะไม่มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินให้คุณได้หรอกนะ


23. ขาดทางเลือกการส่งสินค้า

คล้ายกับข้อที่ผ่านมา คุณคงไม่อยากเสียโอกาสเพียงเพราะว่าคุณไม่มีวิธีการจัดส่งที่ลูกค้าของคุณต้องการ

แน่นอนว่าไม่ใช่ลูกค้าทุกคนจะมีความต้องการที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการจัดส่ง บางคนอยากได้สินค้าให้ได้เร็วที่สุดไม่ว่าค่าจัดส่งจะราคาเท่าไรก็ตาม (เช่น บริการส่งด่วนภายใน 3 ชั่วโมง) บางคนก็สามารถรอได้นานหน่อยถ้าหากฟรีค่าส่ง ส่วนบางคนก็ต้องการที่จะระบุว่า ที่ไหน เมื่อไร และจะมีการจัดส่งอย่างไร เพราะต้องการไปรับสินค้าเองที่สาขา เป็นต้น

ระบบการขนส่ง shipping

มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าทุกคนในเรื่องของการจัดส่ง แต่คุณก็ควรที่จะมีทางเลือกหลายๆแบบ โดยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ และคุณต้องไม่ขาดทุน


24. ไม่ยอมลงทุนในการทำสื่อการตลาด

อีกหนึ่งความผิดพลาดที่เว็บไซต์ eCommerce หลาย ๆ เว็บมักจะทำพลาดกันก็ คือ คิดว่าการทำสื่อการตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากเกินไป และอาจไม่ได้ให้ผลลัพท์ที่คุ้มค่าหรือ ไม่ใช่แนวที่ตนเองถนัด

ซึ่งจริง ๆ แล้วการทำสื่อการตลาดก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการทำสื่อการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจอย่างมาก

Emil Kristensen จาก Sleeknote เสริมอีกว่า:

จริงอยู่ว่าการทำสื่อการตลาดนั้นเป็นเรื่องยาก และยิ่งเป็นการตลาดสำหรับเว็บไซต์ eCommerce นั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำไม่ได้ จริง ๆ แล้ว Casper แนะนำให้ใช้กลยุทธ์ง่าย ๆ ด้วยการใช้สื่อ เพื่อตอบคำถามลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มักจะถามเข้ามาเกี่ยวกับบริการของเว็บไซต์ เช่น วิธีการใช้งานเว็บไซต์, ช่องทางการชำระเงิน, เวลาจัดส่งสินค้า และเงื่อนไขการคืนสินค้า และมันก็มักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในแวดวงไหน มันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ ให้ข้อมูล หรือมีหัวข้ออะไรที่ควรค่าแก่การนำเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมายของคุณ อย่างที่เราเคยได้บอกไปหลาย ๆ ครั้งในบทความนี้ ว่ายิ่งลูกค้าของคุณได้รับข้อมูล และมีส่วนร่วมมากแค่ไหน ยิ่งเพิ่มโอกาสในการซื้อในเว็บของคุณมากขึ้นเท่านั้น


25. มี Content เยอะเกินไปโดย content ที่มีก็ไม่ได้สอดคล้องกับแผนการตลาด

โดยปกติทั่วไปการสร้าง Content โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ก็เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มการมีส่วนร่วม การคำนึงถึงบริษัทก็เพื่อสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น เมื่อพูดอย่างนั้นแล้ว การที่ Content ของคุณทำให้คนแวะเวียนเข้ามาเว็บไซต์มากมาย แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดยอดซื้อขาย หรือยอดสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเลย จริง ๆ แล้วคุณก็ไม่ต้องเสียเวลาทำ Content เหล่านั้นตั้งแต่แรกเลยก็ได้

แน่นอนว่า มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องคอยแต่สร้าง Content ที่ “เน้นการขาย” (เดี๋ยวมีต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้) แต่คุณควรจะสร้าง Content ที่ส่งเสริมกับเส้นทางการซื้อของลูกค้า (Buying Journey) และจัดเตรียมความพร้อมสำหรับพวกเขาเพื่อทำการซื้อสินค้า

อีกนัยนึง ก็คือ หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายของคุณ เข้ามาดู Content พวกเขาต้องพร้อมที่จะใช้สินค้าของคุณมากขึ้นกว่าก่อนที่จะ อ่าน, ดู หรือฟัง Content ของคุณ


26. สร้างแต่ Content พื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เกิดแรงกระตุ้นให้ซื้อสินค้าหรือบริการ

การจะสร้าง Content ที่น่าสนใจ ที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายของคุณให้ความสำคัญนั้น แน่นอนว่า Content นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับความต้องการและความคาดหวังของเขาก่อน

นอกจากนั้นระหว่างที่เรากำลังเจาะลึกกับเรื่องนี้ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องระลึกไว้เสมอว่า การทำสื่อการตลาดนั้น มันมีอะไรที่มากกว่าแค่บทความ และการโพสต์ลงใน Social Media

Jeff Cox จาก SendinBlue ได้บอกไว้ว่า :

หนึ่งในข้อผิดพลาดที่ผมเห็นบรรดาธุรกิจ eCommerce ทำเสมอ ๆ คือ การส่งจดหมายข่าวแบบทั่วไป ๆ โดยไม่มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายเลย ยิ่งการที่ Content ของคุณ เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของคุณมากเท่าไร กลุ่มเป้าหมายก็ยิ่งสนใจ และมีโอกาสที่จะซื้อมากขึ้นเท่านั้น

เพิ่มตัวแปรนี้เข้าไปในการวางแผนการตลาดของคุณด้วย เพราะการที่โฟกัสไปที่ Content ที่คุณ “คิด” ว่า กลุ่มเป้าหมายของคุณสนใจ มากกว่าสิ่งที่เขา “สนใจจริง ๆ” อาจจะทำให้สุดท้ายแล้วคุณเสียเวลา เสียเงินและพลังงานในการสร้าง Content ที่ไม่มีใครมาอ่าน ยิ่งไปกว่านั้น การสร้าง Content ที่สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายโดยทั่ว ๆ ไป มากกว่าการที่เจาะเป็นกลุ่ม ๆ ไปนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องยากและหลายๆบริษัทก็คงได้ทำไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ Content ที่คุณสู้อุตส่าห์สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากอาจจะไม่ได้โดดเด่น และสร้างประโยชน์ให้แก่เว็บไซต์ของคุณเลยก็ได้

คุณควรจำทั้งหมดนี้ให้ขึ้นใจ แล้วคุณจะเจาะลึกในการทำ Content ที่น่าสนใจและให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายของคุณ และจะหาจากเว็บอื่นไม่ได้


27. สร้าง Content ที่มีเนื้อหาซับซ้อนเข้าใจยากเกินไปจนผู้อ่านต้องตีความ

อีกมุมนึง คุณต้องอย่าลืมว่า ถึงแม้ว่าคุณจะมีความเชี่ยวชาญ ในเรื่องนั้น ๆ แต่กลุ่มเป้าหมายของคุณ อาจจะไม่ใช่

James Stevens จาก Roses Only กล่าวไว้ :

(มันผิดพลาดมากกับการที่) ทำให้ข้อความนั้นดูมีความซับซ้อน โดยเดาว่ากลุ่มลูกค้าคุณนั้นสามารถเข้าใจบรรดาคำเฉพาะทางต่าง ๆ ได้

ถึงแม้ว่าคุณต้องการที่จะสื่อถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ผ่าน Content ที่คุณสร้างขึ้นมา คุณก็ต้องไม่ลืมว่า Content ของคุณจะต้องไม่ใส่คำศัพท์เฉพาะทางเทคนิค จนทำให้กลุ่มเป้าหมายของคุณที่อาจจะเพิ่งเป็นมือใหม่ ไม่เข้าใจอะไรที่คุณจะสื่อเลย เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ Content นั้นไร้ประโยชน์ไปเลยกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ แต่มันจะทำให้คุณดูขี้อวด โชว์พลังอีกด้วย


28. ทำอะไรที่น้อยเกินไป หรือมากเกินไป

สำหรับหลาย ๆ คนที่เพิ่งเริ่มก้าวเข้ามาในโลกของการทำสื่อการตลาด มักจะเดาว่า การทำ “Blog” คือ ทั้งหมดของกระบวนการ แต่การทำ Blog นั้น เป็นแค่หนึ่งส่วนจากทั้งหมด และควรจะเป็นแค่ส่วนนึงของแผนการตลาดของคุณเท่านั้น

ท่ามกลางบรรดาสื่อประเภทต่าง ๆ ก็จะมีสื่อ

  • Infographics
  • Podcasts
  • Webinars
  • Ebooks
  • Case Studies
  • Newsletters

และ อื่น ๆ อีกมากมาย

ประเภทสื่อต่างๆ

มันเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรจะต้องคำนึงไว้ในใจว่า ในกลุ่มเป้าหมายของคุณนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะมีเวลามาอ่าน Blog, บางคนนั้นอาจจะชอบฟัง Podcast มากกว่า หรือบางคนอาจจะชอบอะไรที่เสพได้นาน ๆ อย่างเช่น Ebook หรือ White Papers

ซึ่งทั้งหมดนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของคุณ ว่าต้องการอะไร และไปมุ่งเน้นการสร้าง Content ประเภทนั้น ๆ และก็ต้องระวังอย่าทำหลายอย่างเกินไปจนไม่มีจุดเด่น การตัดสินใจเลือกประเภทของสื่อที่กลุ่มเป้าหมายของคุณต้องการนั้น จะช่วยให้เปิดกว้างวิสัยทัศน์ แต่มันก็ช่วยให้จำกัดวงให้แคบและเพิ่มโฟกัสได้มากขึ้นเหมือนกัน


29. เน้นขายมากเกินไป ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านการสร้างคุณค่าในแบรนด์และตัวสินค้า

จากที่เรากล่าวไปข้างบน การทำสื่อการตลาดนั้นควรเกี่ยวกับ

  • การให้ความรู้และการมีส่วนร่วมระหว่างคุณกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ค่อย ๆ ตะล่อมให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการซื้อ

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรที่จะใช้ Content นั้น เพื่อเน้นเรื่องการขายเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์ของการทำสื่อการตลาด นั้นก็เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายได้ตัดสินใจด้วยความต้องการของตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มเป้าหมายยุคนี้ ค่อนข้างที่จะคาดหวังว่า Blog หรือ Content อื่น ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม มักจะไม่มีการชักชวน หรือกดดันให้มาซื้อสินค้า (ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ทันได้รู้ตัวถึงเรื่องนี้) เพราะถ้าหาก Content นั้น ๆ มีการ “อวยให้ซื้อ” ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะมองออก และก็ขอผ่านไปอ่านเรื่องอื่นต่อทันที

มันมีช่วงเวลาสำหรับการส่งเสริมการขายที่ลูกค้าสามารถยอมรับได้ แต่โดยปกติทั่วไปแล้ว มักจะไม่ใช่เวลานี้ที่จะเน้นการทำสื่อการตลาดเพื่อการขายเพียงด้านเดียว

ข้อผิดพลาดที่เกี่ยวกับด้านการทำธุรกิจ


30. เปิดก่อน ถามทีหลัง

Ashirwad Shetty จาก Specbee ได้อธิบายไว้ว่า :

ถ้าหากคุณคิดจะเปิดธุรกิจก่อนที่จะทำการตลาด คุณควรจะเตรียมลูกค้ากลุ่มแรกไว้ก่อนเลย โดยเปิดให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาทดลองใช้สินค้าและบริการ ซึ่งอย่างน้อยคุณควรต้องมีลิสต์ลูกอยู่ในมือแล้วจำนวนหนึ่งก่อนจะเปิดให้บริการ เพื่อให้คุณได้ไอเดียที่มากพอสำหรับข้อมูลเพื่อการประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจของคุณ

สิ่งที่ Shetty พูดนั้นหมายถึง การเปิดเว็บ eCommerce ก่อนที่จะวิเคราะห์และประเมินนั้น คือ หายนะดี ๆ นี่เอง

Shetty ยังพูดต่ออีกว่า :

ขั้นตอนแรก ๆ ของการทำธุรกิจ อย่างเช่น การพัฒนา MVP หรือ Minimum Viable Product ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเฉพาะฟีเจอร์สำคัญ ๆ ที่สามารถใช้วัดเพื่อประเมินตลาดและกลุ่มลูกค้าให้ได้ผลมากที่สุด โดยใช้ทรัพยากรและเวลาในการพัฒนาให้น้อยที่สุด การปั่นกระแสผ่านทาง Social Media ฯ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ “สำคัญมาก” สำหรับโลกของ eCommerce

อย่างที่เราพูดไปในตอนต้น การจะสร้างธุรกิจ eCommerce นั้นไม่ได้ง่ายประหนึ่งว่า เปิดร้านออนไลน์ แล้วรอดูยอดขายพุ่ง จริง ๆ แล้วธุรกิจ ecommerce ก็เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ถ้าคุณไม่เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ธุรกิจของคุณก็จะไปได้ไม่ไกล


31. โฟกัสผิดเรื่อง

Allen Burt จาก BlueStout ได้อธิบายไว้ :

ข้อผิดพลาดอันดับหนึ่ง ที่เห็นได้ตามแบรนด์ eCommerce ต่าง ๆ ก็คือ ไปโฟกัสกับเรื่อง traffic ของเว็บไซต์ โดยลืมนึกถึงอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน “กลยุทธ์ในการขาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเขาสามารถจะเพิ่มยอดขายและกำไรให้แก่ธุรกิจได้ บ่อยครั้งที่ผู้จัดการเว็บ eCommerce ไปโฟกัสและทุ่มเทพลังไปมากมายกับการเพิ่มยอด Traffic ให้แก่เว็บ ในขณะที่คุณสามารถเพิ่มผลกำไรได้เป็นสองเท่า เพียงแค่คุณมาโฟกัสกับการวางกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายทั่วไปซะก่อน

โฟกัสผิดเรื่อง

คุณควรที่จะโฟกัสเรื่องการเพิ่มอะไรที่สุดท้ายแล้ว มันมีความสำคัญจริง ๆ กับธุรกิจของคุณ และจริงอยู่ว่าการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเว็บ UIP ในเว็บของคุณจะช่วยเพิ่มยอดขายขึ้นมาได้ แต่อย่างที่ Burt ได้ชี้ให้เห็นว่า มันยังมีอีกแนวทางนึงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มผลประกอบการ (ในขณะเดียวกัน มันก็ยังช่วยให้คุณสามารถลดต้นทุนค่าโฆษณาและการทำ PR ไปในตัวได้ด้วยนะ)


32. ไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะชอบคิดว่าใคร ๆ ก็เป็นลูกค้าได้

จากข้อข้างบน การสร้างกระแส ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเปิดตัว เป็นปัจจัยสำคัญในการจะประสบความสำเร็จในโลกของ eCommerce และแน่นอนว่ามันก็ไม่ได้ง่ายประหนึ่งว่า “สร้างเสร็จปุ๊บ คนเข้าปั๊บ”

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ คุณจะมาคอยคาดหวังว่ากลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการ จะโพล่มาในทันทีที่หน้าเว็บของคุณ เพียงแค่เพราะว่าคุณมีของที่เค้าต้องการ แต่คุณควรจะต้องรู้จักกับ “บุคคลเหล่านี้” ว่าเค้าเป็นใคร “ก่อน” ที่เค้าจะรู้จักคุณ และนี่ก็เป็นหนึ่งในปัญหาประจำของบริษัทที่ทำเว็บ eCommerce

อย่างที่ Harris of Elumynt อธิบายไว้ :

ผมเห็นหลายต่อหลายคน ใช้เวลาและเงินทองไปมากมายกับการพัฒนาสินค้า และก็ยังใช้เวลาและเงินอีกมากไปกับการพัฒนาเว็บไซต์ แต่พวกเขาไม่เคยคิดจะใช้แม้แต่เศษเงินสักเสี้ยวนึงกับเวลาเหล่านั้นเพื่อที่จะศึกษาดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาเป็นใครกันแน่ ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ๆ เพราะการที่คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายของคุณนั้นจะช่วยให้คุณคิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เช่น ควรจะใช้รูปภาพแบบไหนในสื่อโฆษณาของคุณ, คุณจะเขียนใช้คำเชิญชวนแบบไหนมา เพื่ออธิบายถึงสินค้าของคุณให้ตรงใจของพวกเขา หรือแม้แต่จะใช้สื่อช่องทางไหนในการเข้าถึงพวกเขา และประเด็นอีกมากมายที่คุณยังนึกไม่ถึ

Raphael Paulin-Daigle จาก SplitBase เสริมอีกว่า :

หนึ่งในข้อผิดพลาดที่ร้ายแรง ที่หลาย ๆ คนในธุรกิจ eCommerce ทำผิดเป็นประจำ ก็ คือ การที่สื่อสารกับลูกค้าไม่มากพอ บริษัทต่าง ๆ มักจะเชื่อว่าว่าพวกเขารู้จักลูกค้าของเค้าดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง บรรดา personas ที่บริษัทต่าง ๆ สร้างขึ้นมา มาจากข้อมูล demographic และการคาดเดาล้วน ๆ ซึ่งปัญหาของเรื่องนี้ คือ ถ้าหากคุณต้องการเพิ่มยอดขาย คุณก็ต้องการข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่มากกว่านั้นและรู้ให้ลึกกว่านั้น นั่นหมายความว่าคุณต้องเข้าใจลูกค้าในระดับที่ลึกลงไปถึงปัญหาและความต้องการจริง ๆ ของพวกเขาให้ได้

พูดง่าย ๆ ก็คือ ว่า

ถ้าหากว่าคุณยังกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ได้ มันก็เหมือนคุณกำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างแบบคนที่ตาบอดนั้นแหละ และที่สำคัญมันยังอยู่บนบรรทัดฐานของการเดาข้อมูลล้วน ๆ อีกด้วย


33. ไม่รู้วิธีที่จะเข้าหากลุ่มเป้าหมาย

ประเด็นนี้ก็ไปเข้ากับเรื่องที่ Harris พูดไว้ในข้อก่อนหน้านี้เลย มันไม่ใช่แค่คุณต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร แต่คุณต้องรู้จักช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่จะเข้าถึงพวกเขาด้วย

ลองคิดดู ว่าถ้าหากคุณสร้างสินค้ามาอย่างหนึ่ง ที่คุณรู้ว่าจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งต้องการใช้แน่ ๆ คุณก็สร้าง Content ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้คนกลุ่มนั้นสนใจและสร้างความเชื่อใจในสินค้าและบริการของคุณ เมื่อคุณทำทุกขั้นตอนทั้งหมดที่ควรจะทำ ... แต่คุณดันไม่รู้ว่าจะเข้าหาพวกเขายังไง พวกเขาใช้อะไร Facebook? Twitter? พวกเขาสนใจติดตามอีเมลข่าวสารมั้ย?

ถ้าคุณไม่รู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ สุดท้ายแล้วสินค้าของคุณก็จะไม่มีใครเห็น ไม่ว่ามันจะเป็นที่ต้องการมากแค่ไหนก็ตาม


34. ตั้งราคาสินค้าเพื่อการแข่งขันเท่านั้น

Mert Gencler จาก Prisync เชื่อว่า :

หนึ่งในความผิดพลาดที่บรรดาบริษัทที่เปิดเว็บไซต์ eCommerce ทำ คือ การที่เขาตั้งราคาแบบอัตโนมัติ โดยไม่มองราคาของคู่แข่งในตลาดเลย

ถ้าขยายความในเรื่องนี้ คือ หากคุณใช้กลยุทธ์ในการกำหนดราคาแบบอัตโนมัติด้วยซอฟต์แวร์ระบบ eCommerce อาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสที่จะทำกำไรเพิ่มในระยะยาวได้ นอกจากนี้ราคาที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่การขายตัดราคาคู่แข่งเพียงอย่างเดียว (ให้คุณลองนึกถึงการตั้งราคาในแบบที่ Rolex ทำซิ นอกจากธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ แถมยังไปได้ดีด้วยละ)

และถึงแม้ว่า มันจะเป็นเรื่องดีสำหรับการปรับราคาแบบอัตโนมัติในหลาย ๆ ด้านของวิธีการกำหนดราคา (อย่างเช่น คิดคำนวณจากการรวบรวมข้อมูลภายในระบบ หรือคำนวณจากการคาดการณ์ผลประกอบการล่วงหน้า) แต่คุณก็ไม่ควรที่จะให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพราะบางโอกาสคุณก็สามารถที่จะปรับราคาขึ้นแถมยังได้ยอดขายเพิ่มขึ้นอีกด้วย หรือบางทีการตั้งราคาเพื่อสู้กับคู่แข่ง ก็อาจจะเป็นวิธีเร่งทำยอดขายเพิ่มมากขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม การจะกำหนดราคาให้เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณเจอวิธีการและแนวทางในการกำหนดราคาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับบริษัทคุณแล้ว รับรองได้ว่ามันจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน


35. ขยายกิจการตอนที่ยังไม่พร้อม

Michael Ugino จาก Sellbrite บอกว่า :
ปัญหาอันดับหนึ่ง ที่เขาเจอเวลาทำงานกับเว็บไซต์ eCommerce ขนาดเล็กนั้นก็ คือ พวกเขาจะพยายามเร่งขยายธุรกิจอย่างเร็วเกินไป

เราช่วยให้ร้านค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ขยายธุรกิจของเขาด้วยการ ขยายช่องทางการขายสินค้า แต่ในหลาย ๆ ครั้งนั้น บริษัทหลาย ๆ แห่งก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจ ทุก ๆ ช่องทางการขายใหม่ที่เกิดขึ้นก็ คือ ธุรกิจแบบใหม่ และมันต้องใช้การเตรียมตัวและการวางแผนเฉพาะทางของมัน

นอกจากที่ Ugino พูดเกี่ยวกับช่องทางการขายแล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณทั้งหมด ธุรกิจอาจจะกำลังมาแรงในขณะนั้น และสินค้าของคุณอาจจะขายดีแบบเทน้ำเทท่า แต่ถ้าหากคุณทำเกินกำลังของบริษัทคุณในทางใดทางหนึ่ง อย่างเช่น ขายให้ผู้ค้าส่งเพิ่มขึ้น, เพิ่มประเภทสินค้า หรือลงทุนกับซอฟต์แวร์แพง ๆ นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจของคุณเป็นอัมพาตได้เลย ถ้าหากคุณไม่ได้มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อน

อย่างแรกที่คุณต้องทำ คือ พิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ธุรกิจของคุณสามารถดำเนินกิจการได้ และยังค่อย ๆ เพิ่มผลประกอบการขึ้นได้เรื่อย ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ถ้าหากคุณพิสูจน์ได้แล้วว่า ธุรกิจของคุณ “กำลังไปได้สวย” คุณถึงจะสามารถดูหนทาง ในการขยายธุรกิจแบบที่คุณสามารถบริหารจัดการได้ และจะไม่ทำให้คุณเจ๊งในอนาคต


36. ไม่ได้วางกลยุทธ์ในการทำ SEO

จากข้อผิดพลาดทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ว่าเว็บไซต์ eCommerce ของคุณจะเป็นมืออาชีพและน่าดึงดูดแค่ไหนก็ตามทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในอันดับที่ดีเพียงใดในเว็บไซต์ค้นหา หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า Google นี่แหละ หากเว็บไซต์ eCommerce ของคุณสามารถไปแสดงอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหามันจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้โดยอัตโนมัติ การวางกลยุทธ์เพื่อให้ได้อันดับที่ดีใน Google หรือการทำ SEO ที่ดี คือ การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เว็บไซต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเว็บไซต์ของคุณ

กลยุทธ์ในการทำ SEO

คุณควรระลึกไว้ว่า SEO ไม่ใช่แค่การเอาคีย์เวิร์ดและวลีค้นหายอดนิยมเพียงไม่กี่คำมาใส่ไว้บนเว็บไซต์ของคุณเท่านั้น แต่ SEO มีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความคิดที่ถูกต้องว่าควรจะใส่คำค้นหาหรือ keywords อะไรเข้าไปในเว็บไซต์, การอัพโหลดโครงสร้างของเว็บไซต์เพื่อทำให้เว็บไซต์ค้นหาอย่าง Google นั้นรู้จักเว็บของคุณ

การลดระยะเวลาในการดาวน์โหลดหน้าเว็บไซต์ให้เร็วที่สุดก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ รวมถึงการตรวจสอบไม่ให้เจอหน้าเว็บที่ไม่พบข้อมูล (error 404) ก็จำเป็นต้องทำอยู่เสมอด้วย วิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่ม SEO ให้กับเว็บไซต์ของคุณ คือ การใส่คำบรรยายข้อความธรรมดาสำหรับเนื้อหากราฟิกทั้งหมด (เครื่องมือค้นหา เช่น Google สามารถจดจำได้เฉพาะข้อความ HTML ธรรมดาเท่านั้น)

นี่น่าจะเป็นบทความที่ยาวมาก ๆ สำหรับผู้อ่านบางท่าน แต่ผมแนะนำว่าคุณควรทำการศึกษาเรื่องนี้ในทุกแง่มุม ลองใช้แต่ละข้อในบทความนี้เพื่อเป็น check list ให้แก่ธุรกิจและเว็บ eCommerce ของคุณ และพยายามให้เกิดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด หรือไม่มีเลยจะดีที่สุด และที่จะมองข้ามไม่ได้เลย ก็คือ ประสบการณ์ทำงานจริงของทีมผู้พัฒนาระบบ eCommerce ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจที่มีต่อธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องทุ่นแรงให้กับคุณ ที่จะช่วยนำพาธุรกิจของคุณให้ประสบความสำเร็จได้

ผมหวังว่าธุรกิจและเว็บไซต์ eCommerce ของผู้อ่านทุกคนจะประสบแต่ความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองในอนาคตนี้ครับ

« Back to Result